ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การกลับมารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เร่งให้ความไม่แน่นอนในโลกสูงขึ้น นโยบายทรัมป์ 2.0 กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีผลกดดันเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินงานของธุรกิจทั่วโลก
มองไปข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายลักษณะคาดการณ์ยาก พร้อมจะปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับการต่อรอง โดยในกรณีฐานมองว่า สหรัฐฯ จะใช้นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) แทนนโยบาย Universal Tariffs ที่เคยหาเสียงไว้ และใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะสินค้า หรือบางประเทศเพิ่มเติม (Specific Tariffs) เช่น สินค้ารถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม หรือสินค้าจากประเทศจีน และแคนาดา
SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีฐาน นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 11% จากอัตราเฉลี่ยเดิม ยิ่งหากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ด้วยแล้ว คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่นี้ จะกระทบเศรษฐกิจโลกรวม -1.3% และเร่งให้เงินเฟ้อโลกเพิ่ม 0.5% ในระยะปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลลบทางเศรษฐกิจสุทธิน้อยกว่า แต่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเร่งตัวสูงกว่าจากผลกระทบนโยบายขึ้นภาษีนำเข้า
คาดศก.โลกปีนี้ โตชะลอเหลือ 2.6% ผลพวงสงครามการค้า
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัวชะลอลงบ้างที่ 2.6% (เทียบกับ 2.7% ในปีก่อน) จากผลสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้น ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มออกนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยลดผลกระทบจากภายนอกมากขึ้น เช่น ยุโรปและจีน วางแผนขาดดุลการคลังมากขึ้น โดยเยอรมนี มีแผนขยายกฎเกณฑ์การคลังด้านหนี้ (Debt Break) เพื่อเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ พร้อมตั้งกองทุน 500,000 ล้านยูโร เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐตลอด 10 ปีข้างหน้า ด้านจีนวางแผนขาดดุลคลัง 4% ของ GDP สูงเป็นประวัติการณ์ อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นก่อหนี้มากขึ้น และจะกู้เงิน 5 แสนล้านหยวน เพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐ
นโยบายการเงินประเทศเศรษฐกิจหลัก จะแตกต่างกันและไม่แน่นอนสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยอีก 50 BPS ในปีนี้ตามที่เคยประเมินไว้ แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังสูงและเสี่ยงเร่งขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของตัวเอง แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 และความไม่แน่นอนของนโยบายที่สูงขึ้น
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่า Fed รวม 100 BPS ในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า และเงินเฟ้อต่ำกว่า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ รวม 50 BPS เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยนอ่อน และเงินเฟ้อญี่ปุ่น ทรงตัวสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืนขึ้น
คาดศก.ไทยปีนี้ โต 2.4% ยังมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว-มาตรการภาครัฐ
SCB EIC ยังคงมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่ 2.4% โดยเศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ 10,000 บาทในเฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการเร่งเบิกจ่าย อย่างไรก็ดี ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้เงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
สำหรับนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนของไทย เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยพึ่งตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น พร้อมกับการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นด้วย หลังจากจีนมีแผนทยอยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ กระจายไปตลาดอื่น
ท่ามกลางแรงกดดันจากภายนอกสูงขึ้น ภาคการผลิตไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจจีน เข้ามาลงทุนในไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นการเข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศมากขึ้น ภาพการลงทุนภาคเอกชน แม้จะกลับมาขยายตัวในปีนี้จากที่หดตัวแรงในปีก่อน แต่เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุน ตามกระแสการลงทุนทางตรงจากต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนในประเทศด้านอื่น ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก
ศก.ไทยฟื้นช้ากลุ่มรั้งท้ายโลก ผลพวงแผลเป็นช่วงโควิด-19
SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก สะท้อนอาการแผลเป็นโควิดหลายมิติ ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ทั้งจาก
3 แผลเป็นภาคครัวเรือน : สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ที่ยังสูงเกือบ 90% แม้จะทยอยลดลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อใหม่หดตัว ทำให้แม้การบริโภคภาคเอกชนปีนี้ จะมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากโครงการเงินโอน 10,000 บาทเฟสที่เหลือ แต่ปัจจัยรายได้ฟื้นช้า หนี้สูง และการเข้าถึงสินเชื่อที่ลดลง จะยังคงกดดันการบริโภคอยู่
อ่านต่อได้ที่ : https://www.infoquest.co.th/2025/478846